25 เมษายน 2556

เค้าโครงวิจัยการศึกษาความพอใจของผู้ใช้บัณฑิตระดับปริญยาตรีหลักสูตร 4 ปี ฯ

เค้าโครงวิจัยการศึกษาความพอใจของผู้ใช้บัณฑิตระดับปริญญาตรีหลักสูตร 4 ปี วิชาเอกเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการศึกษา
คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง พ.ศ. 2535-2555


โดย อ. นภาศล  เพ็ญแสวง

คลิกเพื่ออ่านโครงร่างงานวิจัยได้ ที่นี่ อ่านต่อ >>>

11 เมษายน 2553

........มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง (www.mcru.ac.th) ตั้งอยู่เลขที่ ๔๖ หมู่ ๓ ต.จอมบึง อ.จอมบึง จ.ราชบุรีได้เริ่มก่อตั้งเมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๔๙๗ เดิมมีชื่อว่า ”วิทยาลัยหมู่บ้านจอมบึง”(Chombueng Village Institute) โดยก่อตั้งเป็นสถานศึกษาตามแนวคิด "วิทยาลัยหมู่บ้าน"ของประเทศตุรกีมีจุดมุ่งหมายในการก่อตั้ง ๔ ประการคือ
........๑. เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนครูในชนบทที่ต้องการพัฒนา โดยคัดเลือกนักเรียนในท้องถิ่นทุรกันดารเข้าศึกษาเป็นอันดับแรกเมื่อศึกษาสำเร็จแล้วให้กลับไปพัฒนาท้องถิ่นของตน
........๒. เพื่อปลูกฝังนักศึกษาครูให้รักอาชีพครูโดยผ่านการศึกษาเล่าเรียนและฝึกงานหลายแบบ เพื่อนำความรู้ความชำนาญไปลงมือปฏิบัติได้
........๓. เพื่อให้นักศึกษาครูรู้จักปฏิบัติตนในการเข้าสังคมโดยอยู่ร่วมกันแบบประชาธิปไตยคือการเคารพนับถือกันช่วยเหลือเกื้อกูลกันมีสติ
........๔. เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการศึกษาในท้องถิ่นใกล้เคียง ในระยะแรกวิทยาลัยหมู่บ้านจอมบึงได้เปิดสอนหลักสูตร ๕ ปี โดยรับนักศึกษาทุนจากถิ่นทุรกันดารจากทั่วประเทศซึ่งสำเร็จชั้นประถมศึกษาปีที่ ๗ เข้าเรียนเมื่อสำเร็จแล้วจะได้รับวุฒิประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา


บ้านเทคโนฯ 'บึง (สาขาเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการศึกษา)
ประวัติ สาขาวิชาเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการศึกษา สังกัดคณะครุศาสตร์ เริ่มก่อตั้งเป็นภาควิชาเทคโนโลยีการศึกษาเมื่อปีพุทธศักราช 2524 โดยผู้ที่ริเริ่มการก่อตั้งคือ ผศ.วิวรรธน์ จันทร์เทพย์ ภารกิจสอนวิชาพื้นฐาน (วิชาการศึกษา 361) ให้กับนักศึกษาครูระดับ ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ป.กศ.สูง) และมีภารกิจรับผิดชอบห้องปฏิบัติการโสตทัศนูปกรณ์ ทำหน้าที่ดูแลและให้บริการการจัดหาสื่อการเรียนการสอนให้กับคณาจารย์ทั้งมหาวิทยาลัย
........ต่อมาในปีพุทธศักราช 2535 ได้เปิดสอนหลักสูตรวิชาเอกเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการศึกษา ระดับปริญญาตรี 4 ปี จำนวนนักศึกษารุ่นที่ 1 มีทั้งสิ้น 45 คน จุดมุ่งหมายหลักคือ ให้นักศึกษามีความรู้ความสามารถในการออกแบบและผลิตสื่อการเรียนการสอนทั้งภาคทฤษฏีและภาคปฏิบัติ มีการส่งเสริมให้นักศึกษาได้รับประสบการณ์ในการเรียนรู้ทั้งในภาคเรียนปกติและในช่วงปิดภาคเรียน โดยสนับสนุนให้นักศึกษาออกฝึกประสบการณ์วิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับวิชาเอก ณ สถานประกอบการทั้งหน่วยงานราชการและเอกชน
........ปัจจุบัน (ปีการศึกษา 2552) มีนักศึกษาที่เรียนวิชาเอกเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการศึกษา เป็นรุ่นที่ 9 ตลอดระยะเวลากว่า 16 ปีที่ผ่านมา นักศึกษาวิชาเอกเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการศึกษา ได้สร้างความสัมพันธ์กับนักศึกษาวิชาเอกเดียวกันของมหาวิทยาลัยราชภัฏกลุ่มภาคตะวันตก ทั้ง 4 แห่ง จนกลายเป็นประเพณีอันดีงาม ทั้งนี้เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ซึ่งกันและกัน ทั้งยังสร้างเจตคติที่ดีต่อกัน สามารถให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลกันในอนาคต
........โปรแกรมวิชาเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ได้เปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรีวิชาเอกเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการศึกษา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 โดยมีจุดมุ่งหมายหลักในการผลิตบัณฑิตให้เป็นผู้มีความรู้ความสามารถทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติในวิชาชีพเทคโนโลยีการศึกษา สามารถประกอบสัมมาอาชีพและดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขตามอัตภาพ
........หลักสูตรและกระบวนการเรียนการสอน เนื่องจากธรรมชาติงานด้านเทคโนโลยีการศึกษาเป็นงานที่มีอัตลักษณ์เฉพาะที่แสดงออกได้ชัดเจนทั้งเชิงลึกและกว้างไปพร้อมๆกัน การดำเนินงานเทคโนโลยีการศึกษาให้บรรลุผลอย่างมีประสิทธิภาพต้องอาศัยความรู้ด้านต่างๆผสมผสานเข้าด้วยกันอย่างบูรณาการ ทั้งนี้เนื่องจากงานเทคโนโลยีมีลักษณะเป็นระบบที่ครอบคลุมทั้งส่วนที่เป็นวัสดุอุปกรณ์ และส่วนที่เป็นกระบวนการในการดำเนินงานต่างๆ หลักสูตรที่นำมาใช้กับนักศึกษาจึงจำเป็นต้องใช้ทั้งหลักสูตรมาตรฐานของกระทรวงศึกษาธิการและหลักสูตรเสริม เพื่อให้บัณฑิตมีความรู้และทักษะได้มาตรฐานในวิชาชีพเป็นที่ยอมรับในวงการที่เกี่ยวข้องอย่างกว้างขวาง
........นักศึกษาวิชาเอกเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการศึกษา จะได้รับการฝึกฝนที่หลากหลายวิธีหลายรูปแบบเพื่อเป็นการเตรียมตัวก่อนออกไปสู่โลกภายนอกอันกว้างใหญ่ไพศาล สามารถประกอบอาชีพได้ทั้งในระบบราชการและเอกชนด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตน กล่าวคือสามารถนำความรู้ภาคทฤษฎีและความสามารถทางปฏิบัติงานเทคโนโลยีการศึกษาไปสอดแทรกและส่งเสริมให้งานต่างๆ ดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้บัณฑิตวิชาเอกเทคโนโลยีการศึกษาจบออกไปประกอบวิชาได้หลายวงการ...
By Phot

19 มิถุนายน 2551

ไหว้ครู เทคโน'บึง

.........หนังสือไหว้ครูเทคโนฯ ปี 51
.........คำนำ
.........พิธีไหว้ครูเป็นกิจกรรมสำคัญของศิษย์ที่แสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทิตาต่อครูบาอาจารย์ ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ให้ศิษย์เป็นผู้มีความสามารถและทักษะในวิชาชีพ ทั้งยังอบรมสั่งสอนให้เหล่าสานุศิษย์ทั้งหลายเป็นคนดีและเก่ง
.........พิธีไหว้ครูเทคโนฯ ได้ทำกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 จนถึงปัจจุบันโดยมีวัตถุประสงค์เหมือนกับรุ่นพี่ๆที่ได้ปฏิบัติกันมา ศิษย์ปัจจุบันทั้ง 2 ชั้นปีรวม 18 คน มีความตั้งใจที่จะสืบทอดกิจกรรมอันดีงามไว้ตามเจตนารมณ์ที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังหวังที่จะได้รับพรเพื่อเป็นกำลังใจจากคณาจารย์ในการศึกษาเล่าเรียนและการปฏิบัติงานในอนาคตตลอดไป
ประวัติวันครู
........ครู หมายถึง ผู้อบรมสั่งสอน; ผู้ถ่ายทอดความรู้ ผู้สร้างสรรค์ภูมิปัญญา และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองของสังคมและประเทศชาติ
........ครู แปลว่า หนัก ครูย่อมเป็นผู้ที่ผ่านการศึกษาค้นคว้ามาแล้วอย่างหนัก เพื่อสะสม ความรู้เอาไว้ถ่ายทอดให้แก่ ศิษย์ และครูย่อมเป็นผู้ที่ต้องอดทนอย่างหนัก ในการสั่งสอนถ่ายทอดความรู้แกศิษย์
........ครู แปลว่า ตระหนัก ครูเป็นผู้ที่มีปัญญามาก เมื่อจะกระทำสิ่งใด ครูจึงสามารถตระหนัก ได้ว่าสิ่งนั้นผิดหรือถูก ดีหรือเลว ควรหรือไม่ควร เมื่อทำแล้วจะเป็นบุญหรือเป็นบาป เมื่อตระหนัก อย่างนี้แล้ว ครูก็จะเลือกทำแต่ในสิ่งที่เห็นว่าดีว่าถูกว่าควรทำ และเมื่อทำไปแล้วก็ให้แต่ผลบุญเท่านั้น
ดอกไม้ประจำวันครู
........สำหรับดอกไม้ประจำวันครู คือ “ดอกกล้วยไม้” โดยพิจารณาเห็นว่าคุณลักษณะของดอกกล้วยไม้ มีลักษณะและความหมายคล้ายคลึงกับสภาพชีวิตครู นั่นคือว่า กล้วยไม้แต่ละช่อจะผลิดอกออกผลให้เราชื่นชมได้ ต้องใช้เวลานานและต้องการดูแลเอาใจใส่ไม่น้อย เช่นเดียวกับครูแต่ละคน กว่าจะสั่งสอนเคี่ยวเข็ญศิษย์คนแล้วคนเล่าให้มีความเจริญงอกงามก้าวหน้าในชีวิตได้ ก็ต้องใช้เวลาอบรมสั่งสอนมิใช่น้อยเช่นกัน นอกจากนี้ กล้วยไม้ยังเป็นพืชที่อยู่ในที่สูงทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศ ไม่ร่วงโรยง่าย เปรียบเสมือนครูที่อยู่ทั่วแดนไทยที่ต้องอดทนต่อสู้เพื่ออุดมการณ์และอุทิศตนเพื่อการศึกษาของชาติ
.........ดังคำกลอนของหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ศิลปินแห่งชาติ ที่ว่า
...“กล้วยไม้มีดอกช้า ฉันใด
การศึกษาเป็นไป เช่นนั้น
แต่ออกดอกคราวใด งานเด่น
งานสั่งสอนปลูกปั้น เสร็จแล้วแสนงาม”
........ที่มา http://www.naewna.com/
ความเป็นมาของวันครู
........วันครูได้จัดให้มีขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๐ สืบเนื่องมาจากการประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๘ ซึ่งระบุให้มีสภาในกระทรวงศึกษาธิการเรียกว่า คุรุสภาเป็นนิติบุคคลให้ครูทุกคนเป็นสมาชิกคุรุสภา โดยมีหน้าที่ในเรื่องของสถาบันวิชาชีพครูในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่ให้ความเห็นเรื่องนโยบายการศึกษา และวิชาการศึกษาทั่วไปแก่กระทรวงศึกษา ควบคุมจรรยาและวินัยของครู รักษาผลประโยชน์ ส่งเสริมฐานะของครู จัดสวัสดิการให้ครูและครอบครัวได้รับความช่วยเหลือตามสมควร ส่งเสริมความรู้และความสามัคคีของครู ด้วยเหตุนี้ในทุก ๆ ปี คุรุสภาจะจัดให้มีการประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้แทนครูจากทั่วประเทศแถลงผลงานในรอบปีที่ผ่านมา และซักถามปัญหาข้อข้องใจต่าง ๆ เกี่ยวกับการดำเนินงานของคุรุสภาโดยมีคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาเป็นผู้ตอบข้อสงสัยสถานที่ในการประชุมสมัยนั้นใช้หอประชุมสามัคคยาจารย์ หอประชุมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในระยะหลังใช้หอประชุมคุรุสภา ปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ในที่ประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี
........จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภากิตติมศักดิ์ ได้กล่าวคำปราศรัยต่อที่ประชุมครูทั่วประเทศว่า“ที่อยากเสนอในตอนนี้ก็คือว่า เนื่องจากผู้เป็นครูมีบุญคุณเป็นผู้ให้แสงสว่างในชีวิตของเราทั้งหลายข้าพเจ้าคิดว่าวันครูควรมีสักวันหนึ่งสำหรับให้บันดาลูกศิษย์ทั้งหลาย ได้แสดงความเคารพสักการะต่อบรรดาครูผู้มีพระคุณทั้งหลาย เพราะเหตุว่าสำหรับคนทั่วไปถ้าถึงวันตรุษ วันสงกรานต์ เราก็นำเอาอัฐิของผู้มีพระคุณบังเกิดเกล้ามาทำบุญ ทำทาน คนที่สองรองลงไปก็คือครูผู้เสียสละทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าในโอกาสนี้จะขอฝากที่ประชุมไว้ด้วย ลองปรึกษาหารือกันในหลักการ ทุกคนคงจะไม่ขัดข้อง”
........จากแนวความคิดนี้ กอปรกับความคิดเห็นของครูที่แสดงออกทางสื่อมวลชนและอื่น ๆ ที่ล้วนเรียกร้องให้มีวันครูเพื่อให้เป็นวันแห่งการรำลึกถึงความสำคัญของครูในฐานะที่เป็นผู้เสียสละ ประกอบคุณงามความดีเพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชนเป็นอันมาก ในปีเดียวกันที่ประชุมคุรุสภาสามัญประจำปีจึงได้พิจารณาเรื่องนี้และมีมติเห็นควรให้มีวันครูเพื่อเสนอคณะกรรมการอำนวยการต่อไป โดยได้เสนอหลักการว่า เพื่อจะได้ประกอบพิธีระลึกถึงคุณบูรพาจารย์ ส่งเสริมสามัคคีธรรมระหว่างครูและเพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างครูกันประชาชน ในที่สุดคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๔๙๙ ให้วันที่ ๑๖ มกราคมของทุกปีเป็น “วันครู” โดยเอาวันที่ประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๘ เป็นวันครูและให้กระทรวงศึกษาธิการสั่งการให้นักเรียนและครูหยุดในวันดังกล่าวได้
การจัดงานวันครู
........การจัดงานวันครูได้จัดเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๐ ในส่วนกลางใช้สถานที่ของกรีฑาสถานแห่งชาติเป็นที่จัดงาน งานวันครูนี้ได้กำหนดเป็นหลักการให้มีอนุสรณ์งานวันครูไว้แก่อนุชนรุ่นหลังทุกปี อนุสรณ์ที่สำคัญคือ หนังสือประวัติครูหนังสือที่ระลึกวันครู และสิ่งก่อสร้างที่เป็นถาวรวัตถุ
การจัดงานวันครูได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกิจกรรม ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมตลอดเวลา ในปัจจุบันได้จัดรูปแบบการจัดงานวันครู จะมีกิจกรรม ๓ ประเภทใหญ่ ๆ ดังนี้
..............1. กิจกรรมทางศาสนา
..............2.พิธีรำลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์ ประกอบด้วยพิธีปฏิญาณตน การกล่าวคำระลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์
..............3.กิจกรรมเพื่อความสามัคคีระหว่างผู้ประกอบอาชีพครู ส่วนมากเป็นการแข่งขันกีฬาหรือการจัดงานรื่นเริงในตอนเย็น
มารยาทและวินัยตามระเบียบประเพณีของครู
1. เลื่อมใสการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขด้วยความบริสุทธิ์ใจ
2. ยึดมั่นในศาสนาที่ตนนับถือ ไม่ลบหลู่ดูหมิ่นศาสนาอื่น
3. ตั้งใจสั่งสอนศิษย์และปฏิบัติหน้าที่ของตนให้เกิดผลดีด้วยความเอาใจใส่ อุทิศเวลาของตน ให้แก่ศิษย์ จะละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่การงานไม่ได้
4. รักษาชื่อเสียงของตนมิให้ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่ว ห้ามประพฤติการใด ๆ อันอาจทำให้เสื่อมเสียเกียรติและชื่อเสียงของครู
5.ถือปฏิบัติตามระเบียบและแบบธรรมเนียมอันดีงามของสถานศึกษา และปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ซึ่งสั่งในหน้าที่การงานโดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบแบบแผนของสถานศึกษา
6. ถ่ายทอดวิชาความรู้โดยไม่บิดเบือนและปิดบังอำพราง ไม่นำหรือยอมให้นำผลงานทางวิชาการของตนไปใช้ในทางทุจริตหรือเป็นภัยต่อมนุษย์ชาติ
7. ให้เกียรติแก่ผู้อื่นทางวิชาการ โดยไม่นำผลงานของผู้ใดมาแอบอ้างเป็นผลงานของตน และไม่เบียดบังใช้แรงงานหรือนำผลงานของผู้อื่นไป เพื่อประโยชน์ส่วนตน
8. ประพฤติตนอยู่ในความซื่อสัตย์สุจริต และปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วยความเที่ยงธรรมไม่แสวงหาประโยชน์สำหรับตนเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบ
9. สุภาพเรียบร้อยประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์ รักษาความลับของศิษย์ ของผู้ร่วมงานและของสถานศึกษา
10. รักษาความสามัคคีระหว่างครูและช่วยเหลือกันในหน้าที่การงาน
คำปฏิญาณตนของครู
..............ข้อ 1. ข้าจะบำเพ็ญตนให้สมกับที่ได้ชื่อว่าเป็นครู
..............ข้อ 2. ข้อจะตั้งใจฝึกสอนศิษย์ให้เป็นพลเมืองดีของชาติ
..............ข้อ 3. ข้าจะรักษาชื่อเสียงของคณะครูและบำเพ็ญตนให้เป็น
........ที่มา...http://www.zabzaa.com/

การไหว้ครู .........การไหว้ครู คือ การที่ศิษย์แสดงความคารวะ ยอมรับนับถือครูอาจารย์อย่างจริงใจว่า ท่านเพียบพร้อมด้วยคุณธรรมความรู้ ศิษย์ในฐานะผู้สืบทอดมรดกทางวิชาการจึงพร้อมใจกันปวารณา ตนรับการ ถ่ายทอดวิชาการความรู้ด้วยความวิริยะอุตสาหะมานะอดทน เพื่อให้บรรลุจุดหมายปลายทาง ของการศึกษาตามที่ตั้งใจไว้
.........ครู คือ ผู้ที่จุดดวงประทีปทางปัญญาให้แก่ศิษย์ เพื่อให้ศิษย์พ้น จากความมืด คือ ความไม่รู้ โดยพยายามอดทนประคับประคอง ส่งเสริมให้ศิษย์เจริญก้าวหน้าใน ทุกวิถีทาง ฉะนั้น ครูที่แท้จริงคือ ผู้ให้ สำหรับศิษย์โดยไม่มีขอบเขตจำกัด ทั้งนี้เพราะหัวใจและ วิญญาณของครูบรรจุสิ่ง ๓ ประการ คือ ปัญญา กรุณา และบริสุทธิ์ ไว้เต็มเปี่ยม
สิ่งที่ต้องเตรียมในการไหว้ครู
.........การไหว้ครู ในอดีตนั้น มักจะใช้ หญ้าแพรก ข้าวตอก ดอกมะเขือ และดอกเข็ม เป็นองค์ประกอบในพานดอกไม้แต่ละอย่างล้วนเป็นปริศนาธรรมทั้งสิ้น
.........หญ้าแพรก เป็นตัวแทนที่แสดงถึงความเข้มแข็ง อดทนถึงแม้จะแห้งแล้ง คนเดินเหยียบย่ำ หญ้าแพรกก็จะไม่ตาย พอได้รับโอกาสที่เหมาะสม ได้รับความชุมชื้น ก็จะแตกยอดเจริญงอกงามเป็นอย่างดี ครูจึงต้องเป็นผู้ที่เข้มแข็งอดทนต่อปัญหาต่าง ๆ ของนักเรียนนักศึกษามากมาย และค่อย ๆสะท้อนปลูกฝังความมุ่งมั่นอดทน เข้มแข็งไปสู่นิสัยของนักเรียน นักศึกษา ฝึกให้เขาเข้มแข็งอดทนให้จงได้
.........ข้าวตอก เป็นข้าวที่เกิดจากการใช้เมล็ดข้าสารไปคั่ว โดยมีฝาครอบไว้ เมื่อได้รับความร้อนระดับหนึ่ง เมล็ดข้าวก็จะพองตัวและแตกตัวออกเป็นข้าวตอก มีกลิ่นหอม เช่นเดียวกับการให้การศึกษา ครูผู้สอนต้องให้การอบรมคู่กันไปด้วย "อบเพื่อให้สุกรมเพื่อให้หอม" เช่นเดียวกับการทำข้าวตอก
.........ดอกมะเขือ ลักษณะของดอกมะเขือ เวลาบานจะสีขาวสะอาดและดอกจะโน้มคว่ำลงพื้นดินซึ่งก็เป็นปริศนาธรรม แสดงถึงความสะอาดบริสุทธิ์ของจิตใจ เป็นคนซื่อสัตย์ อ่อนน้อมถ่อมตนเสมอ
.........ดอกเข็ม ลักษณะของดอกเข็มจะมียอดดอกแหลม ซึ่งเป็นปริศนาธรรมว่า ครูต้องจัดการเรียนการสอนเพื่อปลูกฝังความคิด ให้นักเรียนนักศึกษาเป็นคนฉลาด (หัวแหลม) รู้จักวิเคราะห์วิจารณ์ ใช้ความคิดให้เป็นประโยชน์แก้ปัญหาต่าง ๆ ที่พบเห็น ความเฉียบคมทางความคิดจะทะลุทะลวงทุกปัญหาได้
คำสวดไหว้ครูทำนองสรภัญญะ
........ปาเจรา จริยา โหนติ คุณุตตรา นุสาสกา
........ข้าขอประณตน้อมสักการ บูรพคณาจารย์ ผู้กอปรเกิดประโยชน์ศึกษา ทั้งท่านผู้ประสาทวิชา อบรมจริยา แก่ข้าในกาลปัจจุบัน ข้าขอเคารพอภิวันท์ ระลึกคุณอนันต์ ด้วยใจนิยมบูชา ขอเดชกตเวทิตา อีกวิริยะพา ปัญญาให้เกิดแตกฉาน ศึกษาสำเร็จทุกประการ อายุยืนนาน อยู่ในศีลธรรมอันดี ให้ได้เป็นเกียรติเป็นศรี ประโยชน์ทวี แก่ข้าและประเทศไทย เทอญ
ปัญญา วุฑฒิ กเร เต เต ทินโนวาเท นมามิหํ
........ที่มา...รศ.เฉลา ประเสริฐสังข์
ความรู้สึกของคุณครู
........มนุษย์ทุกชาติ ทุกเผ่า ต้องมีครู จึงจะมีการพัฒนา เจริญก้าวหน้า วัฒนธรรมไทยให้ความเคารพบูชาครูมาก จึงมีพิธีไหว้ครูอยู่เนืองๆ แทบทุกวงการ แต่ทราบไหมว่า...ครู...ผู้ยิ่งใหญ่ของคนเราคือใคร ...คือตัวเราเอง... ถ้าตนเองสอนตนเองได้เป็นสุดยอดของครู เราไหว้ครูท่านอื่นมาเยอะแล้ว อย่าลืมไหว้ครูที่อยู่ในตัวเราด้วย แต่เราจะไหว้ครูในตัวเราได้สนิทใจ ต้องทำให้จิตเราเป็นครูที่แท้จริงก่อน ฉะนั้นจงทำให้ตัวเราเป็นครูที่แท้จริง สามารถนำพาชีวิตจิตวิญญาณของเราไปสู่หนทางที่ดีเสียตั้งแต่บัดนี้...เราจะได้ไหว้ครูในตัวเรา...ได้อย่างสนิทใจ...
........จะทำอย่างไรลองคิดดู...เชื่อว่าทุกคนรู้อยู่แล้ว...
.......(คุณครูมงคล ภวังคนันท์)...18 มิ.ย. 51
........ทึ่งสุดๆ ทุกครั้งที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมวันไหว้ครูของนักศึกษาเอกเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษา เพราะรู้รักภาคภูมิใจ ประทับใจ กับบรรยากาศที่แสนจะอบอุ่นของนักศึกษาเทคโนฯและรุ่นพี่ที่ย้อนกลับมารำลึกถึงพระคุณครูอาจารย์ที่จัดขึ้นทุกครั้งจนเป็นประเพณี...ที่ครูรอคอย...
........บางปีถ้ามีนักศึกษาน้องใหม่ ก็จะผนวกงานรับขวัญน้องด้วย...ยิ่งสุดเก๋...เพราะปราศจากสิ่งเสพติด ไม่มีเสียงกระโชกโฮกฮากสั่งให้ทำโน่นทำนี้ ไม่มีท่าพิสดาร “ไก่ย่างถูกเผา” มีแต่...กรวยดอกไม้ พวงมาลัย...มอบให้กันและกัน
.............ขอบอกว่าสุขใจสุดๆทุกครั้งที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมนี้
.............ผู้หญิงชื่อ “อังคณา” (ผศ.อังคณา โรจนไพบูลย์)...18 มิ.ย. 51
.............การไหว้ครู ถือเป็นประเพณีวัฒนธรรมของผู้มีวิชาชีพที่เจริญ ที่แสดงความเคารพกตเวทีแด่ท่านบูรพาจารย์ และครูบาอาจารย์ ผู้ซึ่งประสิทธิ์ประสาทวิชาให้เพื่อมีความรู้ความสามารถติดตัวนำไปประกอบอาชีพ ดังนั้นในโอกาส “ไหว้ครูเทคโนฯ”
.............ในปีนี้...ครูจึงคาดหวังที่จะมองเห็น ศิษย์เทคโนฯทุกคน ทุกรุ่น จะได้แสดงให้เห็นว่าได้กระทำพิธีการอันศักดิ์สิทธิ์นี้ด้วยความตั้งใจ มีความเคารพ กตเวที ต่อครูอาจารย์ เพื่อส่งผลให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ตนเองและวิชาชีพ...ของเทคโนฯในภายภาคหน้าสืบไป
.............คุณครูชวน ภารังกูล...18 มิ.ย. 51
.............จากปีพ.ศ.2535ถึงปัจจุบัน โปรแกรมวิชาเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการศึกษาได้เปิดรับนักศึกษาเข้าเรียนวิชาเอกเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการศึกษา รวม 8 รุ่น นักศึกษารุ่นพี่ๆได้สร้างสรรค์กิจกรรมอันดีงามหลายอย่างไว้ให้รุ่นน้องๆได้ปฏิบัติสืบทอดกันมารุ่นแล้วรุ่นเล่า เพื่อเสริมสร้างพื้นฐานความเป็นมนุษย์ให้แต่ละคนสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
.............พิธีไหว้ครูเป็นกิจกรรมหนึ่งที่แสดงออกถึงความอันดีงามทางวัฒนธรรมของไทย ที่เชื่อว่าการไหว้ครูเป็นการแสดงความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ เป็นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดอารมณ์อันสงบสะอาด สว่าง ที่ห่อหุ้มคุมครอบด้วยพลังแห่งกำลังใจและความเอื้ออาทรจากครูอันจะนำไปสู่ความสำเร็จในการประกอบวิชาชีพในอนาคตได้อย่างมีความสุขความเจริญ
.............กิจกรรมการไหว้ครูเทคโนฯ ได้สืบทอดกันมาตั้งแต่นักศึกษารุ่นแรกจนรุ่นปัจจุบัน โดยจัดขึ้นด้วยอุดมการณ์เดิมคือนักศึกษามีจุดมุ่งหมายที่จะแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทิตาต่อครูอาจารย์ผู้ทำหน้าที่อบรมสั่งสอน ประสิทธิ์ประสาทวิชา เพื่อหล่อหลอมให้ศิษย์แต่ละคนสำเร็จการศึกษาด้วยคุณสมบัติสำคัญของมนุษย์คือความเป็น “คนดีและคนเก่ง” สามารถออกไปรับใช้สังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
.............ดังนั้นครูจึงขอขอบใจในความตั้งใจจริงและขออำนวยพรให้ศิษย์แต่ละคนมีสุขภาพกาย สุขภาพจิตที่แข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ และภยันตรายทั้งมวล ขอให้ตั้งอกตั้งใจใฝ่เรียนใฝ่รู้สู้งานอย่างจริงจัง เพื่อให้เป็นบัณฑิตที่เปี่ยมด้วยคุณภาพและประสิทธิภาพตลอดไป
.............ผศ.วิวรรธน์ จันทร์เทพย์...18 มิ.ย. 51
คำขวัญวันครู ตั้งแต่ปี 2522-2551
........คำขวัญปี..2522 การให้การศึกษาแก่คนในชาติ เป็นกระบวนการที่ต้องทำต่อเนื่องกันไปตลอดชีวิต ดังนั้นจึงต้องระดมสรรพกำลังหลายๆด้านมาช่วยเหลือการศึกษาปัจจัยที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งที่จะขาดเสียมิได้ก็คือ ครูซึ่งจะเป็นผู้ผลักดันให้ทุกอย่างไปสู่เป้าหมายได้ ฉะนั้นท่านทั้งหลายคงตระหนักถึงหน้าที่อันมีเกียรตินี้ในโอกาสที่วันสำคัญอย่างยิ่งของครูได้เวียนมาบรรจบครบรอบอีกวาระหนึ่ง ข้าพเจ้าในนามของกระทรวงศึกษาธิการและประธานอำนวยการคุรุสภา ขอส่งความปรารถนาดีและความระลึกถึงเพื่อนครูทุกท่าน ทั้งนอกและใน ราชการขอจงประสบแต่ความสุขความเจริญโดยทั่วกันและขอได้โปรดตระหนักถึงหน้าที่ ยึดมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณีของครูที่ดีสืบไป (ผู้แต่ง นายแพทย์บุญสม มาร์ติน)
........คำขวัญปี..2523 เป็นครูต้องยึดถือคุณธรรมของครู (ผู้แต่ง ดร.ก่อ สวัสดิ์พาณิชย์)
........คำขวัญปี..2524 ครูที่แท้ต้องทำแต่ความดี ประพฤติปฏิบัติในระเบียบแบบแผนอันสมควรกับเกียรติภูมิของตน มีความรักในลูกศิษย์และอบรมปัญญาให้ลูกศิษย์มีความ สมบูรณ์ทั้งทางด้านวิชาการความฉลาดรอบรู้ในเหตุและผล ทางด้านคุณธรรม จริยธรรม และทางด้านพลานามัย (ผู้แต่ง ดร.สิปปนนท์ เกตุทัต)
........คำขวัญปี..2525 ครูนั้น สังคมยกย่องนับถือว่าเป็นปูชนียบุคคล ทั้งนี้เพราะว่าครูเป็นผู้เสียสละยึดมั่นในคุณงามความดี และความถูกต้อง จึงขอให้รักษาความดีนี้ตลอดไป (ผู้แต่ง ดร.เกษม ศิริสัมพันธ์ )
........คำขวัญปี..2526 อนาคตของเด็กไทย อยู่ที่ความเอาใจใส่ของครูทุกคน (ผู้แต่ง ดร.เกษม ศิริสัมพันธ์ )
........คำขวัญปี..2527 ในวาระดิถีขึ้นปีใหม่ 2527 ผมขอให้เพื่อนครูที่รักทั้งหลายและสมาชิกคุรุสภา ทุกท่าน ประสบความสุขสิริสวัสดิ์พิพัฒน์มงคล สัมฤทธิ์ผลอันพึงปรารถนาตลอด (ผู้แต่ง นายชวน หลีกภัย )
........คำขวัญปี..2528 การที่บุคคลหนึ่งจะดำรงชีวิตได้อย่างดีนั้นมิใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะผู้เป็นครูมีแนวปฏิบัติที่ยากยิ่ง เป็นสิ่งน่าเห็นใจที่ครูจะต้องปฏิบัติโดยยึดถือความดี มีคุณธรรมระดับสูงกว่าบุคคลทั่วไป แต่ก็น่าภาคภูมิใจเมื่อครูผู้ปฏิบัตินั้นได้รับความเชื่อถือ ศรัทธา และยอมรับจากสังคมมากขึ้น จึงขอให้เพื่อนครูทุกท่านปฏิบัติตนด้วยความเสียสละ อดทน ยึดถือความดี มีคุณธรรมเพื่อจะบังเกิดผลดีแก่ตนเอง ชุมชน และประเทศชาติสืบไป (ผู้แต่ง นายชวน หลีกภัย )
........คำขวัญปี..2529 ครูคือผู้พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณค่าต่อการพัฒนาชาติ ให้ก้าวหน้า และอยู่รอดปลอดภัย (ผู้แต่ง นายชวน หลีกภัย )
........คำขวัญปี..2530 ครูดีมีวินัย และคุณธรรม ย่อมน้อมให้เยาวชนเป็นพลเมืองดี (ผู้แต่ง นายมารุต บุญนาค)
........คำขวัญปี..2531ครูเป็นผู้สร้าง ครูเป็นผู้ให้ความหวัง ครูเป็นพลังให้ศิษย์เป็นคนดี (ผู้แต่ง นายมารุต บุญนาค)
........คำขวัญปี..2532 ครูดี มีจรรยา มุ่งค้นคว้าเพื่อพัฒนาเด็กไทย (ผู้แต่ง พลเอกมานะ รัตนโกเศศ )
........คำขวัญปี..2533 ครูคือผู้อุทิศทั้งชีวิตและจิตใจ ส่งเสริมเพิ่มพูนให้เยาวชนเป็นคนดี
(ผู้แต่ง พลเอกมานะ รัตนโกเศศ)
........คำขวัญปี..2534 ครูคือผู้สร้างสรรค์ให้เยาวชนของชาติเป็นพลเมืองดี (ผู้แต่ง พลเอกมานะ รัตนโกเศศ)
........คำขวัญปี..2535 ครูคือ ผู้ให้ ผู้สร้าง ผู้พัฒนา และผู้นำเยาวชนของชาติ (ผู้แต่ง ดร.ก่อ สวัสดิ์พาณิชย์)
........คำขวัญปี..2536 ครูคือนักพัฒนา และรักษาสิ่งแวดล้อม (ผู้แต่ง นายสัมพันธ์ ทองสมัคร)
........คำขวัญปี..2537 ครูคือ ผู้มีคุณธรรม ชี้นำประชาธิปไตย สร้างเด็กไทยให้เป็นคนดี
(ผู้แต่ง นายสัมพันธ์ ทองสมัคร)
........คำขวัญปี..2538 อุทิศเวลา รักษาคุณธรรม ชี้นำประชาธิปไตย สร้างเด็กไทยให้เป็นคนดี
(ผู้แต่ง นายสัมพันธ์ ทองสมัคร)
........คำขวัญปี..2539 ครู เป็นหัวใจของการพัฒนาคน (ผู้แต่ง นายสุขวิช รังสิตพล )
........คำขวัญปี..2540 ครูสร้างศิษย์ ด้วยมิตรและนำใจ ครูคือผู้ให้ เพื่อเยาวชนไทยได้พัฒนา
(ผู้แต่ง นายสุขวิช รังสิตพล)
........คำขวัญปี..2541 ครูเป็นผู้นำทางปัญญา ชี้นำประชาธิปไตย สร้างเด็กไทยให้เป็นคนดี
(ผู้แต่ง นายชุมพล ศิลปอาชา)
........คำขวัญปี..2542 ครูเป็นผู้เบิกทางแห่งปัญญา ครูชี้ทางสร้างสรรค์ภูมิปัญญาชนเชิดบูชาพระคุณครู
(ผู้แต่ง นายปัญจะ เกสรทอง/นางเซียมเกียว แซ่เล้า)
........คำขวัญปี..2543 ครูต้องมีจิตวิญญาณของความเป็นครู และประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดี สร้างชาติ สร้างคน ผลงานของครู ทั่วโลกรับรู้ เชิดชูบูชา (ผู้แต่ง นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล/นายประจักษ์ เสตเตมิ)
........คำขวัญปี..2544 พระคุณครูยิ่งใหญ่ สร้างไทยให้พัฒนา ขอบูชาคุณครู (ผู้แต่ง นางสาวสุทิสา ธนบดีไพบูลย์)
........คำขวัญปี..2545 สร้างคนสร้างชาติ สร้างศาสตร์ก้าวหน้า สร้างภูมิปัญญา ขอบูชาครู
(ผู้แต่ง นายสุเทพ วิเศษศักดิ์ศรี)
........คำขวัญปี..2546 ครูให้ความรู้ ควบคู่จรรยา ปวงชนทั่วหล้า น้อมบูชาครู (ผู้แต่ง นางสมปอง สายจันทร์)
........คำขวัญปี..2547 ครูคือพลังสร้างแผ่นดิน ไทยทุกถิ่นน้อมบูชาพระคุณครู (ผู้แต่ง นางสาวพรทิพย์ ศุภกา)
........คำขวัญปี..2548 ครูสร้างคน สร้างชาติ ด้วยศาสตร์ศิลป์ ทั่วแผ่นดินศรัทธาบุชาครู
(ผู้แต่ง นายประจักษ์ หัวใจเพชร)
........คำขวัญปี..2549 ครูดีเป็นศรีแผ่นดิน ศิษย์ทั่วถิ่นศรัทธาบูชาครู (ผู้แต่ง นางพรรณา คงสง)
........คำขวัญปี..2550 สิบหกมกราเทิดทูน"พ่อแผ่นดิน ภูมินทร์บรมครู“ (ผู้แต่ง นางสาวศันสนีย์ แสนโรจน์ จ.อ่างทอง)
........คำขวัญปี..2551 ครูของแผ่นดิน เลิศศิลป์ศาสตร์ มหาราชภูมิพล ชนบูชา (ผู้แต่ง นางพงษ์จันทร์ สุขเกษม จ.พัทลุง)
........(ที่มา : ที่ระลึกวันครู 2549 ครั้งที่ 50 สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา
........http://school.obec.go.th
เรียบเรียงเนื้อหา.......: นายแสงสุริยา วราห์คำ
ที่ปรึกษา................: ผศ.วิวรรธน์ จันทร์เทพย์, อ.มงคล ภวังคนันท์, อ.ชวน ภารังกูล, ผศ.อังคณา โรจนไพบูลย์
จัดพิมพ์.................: โปรแกรมวิชาเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการศึกษา

ภาพกิจกรรมไหว้ครูประจำปี 2551 ณ ห้อง 714

By Phot

...ขอต้อนรับทุกท่านเข้าสู่เว็บบล็อก "บ้านเทคโนฯ'บึง (http://techno711.blogspot.com)" ด้วยความยินดี...